วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

บทขัดชะยะปะริตตัง

บทขัดชะยะปะริตตัง
ชะยัง  เทวะมะนุสสานัง                                          ชะโย  โหตุ  ปะราชิโต
มาระเสนา  อะภิกกันตา                                          สะมันตา  ทํวาทะสะโยชะนา
ขันติเมตตาอะธิฎฐานา                                            วิทธังเสตํวานะ  จักขุมา
ภะวาภะเว  สังสะรันโต                                          ทิพพะจักขุง  วิโสธะยิ
ปะริยาปันนาทิโสตถานัง                                        หิตายะ  จะ  สุขายะ  จะ

พุทธะกิจจัง  วิโสเธตํวา                                          ปะริตตันตัมภะณามะ  เห ฯ

ความเป็นมา
คาถานี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์บทหนึ่ง ที่ยกย่องสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณา บำเพ็ญบารมีธรรมทั้งสิ้นให้เต็มแล้ว เพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง

พระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสร้างสั่งสมมานาน แม้เมื่อเสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส ได้พบพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ยอมทอดกายของตนลงบเปือกตมให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหมู่ภิกษุได้เหยียบเดินไปมิให้เปื้อนด้วยโคลนตม เวลานั้น พระองค์ทรงมีพระบารมีแก่กล้าพอที่จะบรรลุพระอรหันต์ได้ แต่ด้วยความที่ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก จึงตั้งความปรารถนาเฉพาะพระพักตร์พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อจะได้นำหมู่สัตว์ให้ได้ข้ามโอฆะสงสาร ได้รับการพยากรณ์ว่า จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ในอนาคต

พระมหากรุณานี้ได้สั่งสมมาจนได้บรรลุปรมาภิเษกสัมโพธิญาณใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ อันเต็มไปด้วยพระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ พระองค์ทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ บริเวณนั้นนาน ๗ สัปดาห์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย จึงได้ตัดสินพระทัยเสด็จออกแสดงธรรม ประกาศพระสัทธรรม นำพาหมู่สัตว์น้อยใหญ่ข้ามพ้นวัฏฏทุกข์จนตลอดพระชนมชีพของพระองค์โดยมิได้หยุดหย่อน ในแต่ละวันทรงบำเพ็ญพุทธกิจเป็นอเนกอนันต์ตั้งแต่เช้ายันค่ำ เริ่มจากทรงตรวจดูเวไนยสัตว์ผู้ควรแก่การรู้ธรรม เสด็จไปบิณฑบาตโปรดสัตว์ แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย โปรดให้เหล่ากษัตริย์ทั้งหลายได้เข้าเฝ้า ในเวลาดึกโปรดแสดงธรรมและแก้ปัญหาแก่เหล่าเทวดา

คราวครั้งหนึ่ง อาณาจักรโลกโกศลเกิดฝนแล้ง มหาชนจึงทูลวิงวอนเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตและจำพรรษาในชนบทนั้น พระพุทธองค์ทรงพระมหากรุณาแก่มหาชนเหล่านั้น ได้เสด็จไปรับบิณฑบาตพร้อมด้วยพุทธบริวารในนครสาวัตถี เมื่อภายหลังแห่งการบิณฑบาตและภัตกิจเสร็จแล้ว ได้เสด็จไปยังพระเชตวันมหาวิหาร ประทับยืนอยู่ที่บันไดสระโบกขรณีอันมีน้ำในสระนั้นแห้งไปแล้ว ฝูงนกทั้งหลายกำลังจิกปลาและเต่าที่นอนจมเปือกตมให้ดิ้นรนอยู่ ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมครูทรงเผยพระพุทธพจน์ว่า เราจะอาบน้ำในเชตวันโบกขรณี พระพุทธประสงค์นี้ทราบถึงท้าววัชรินทร์ จึงมีเทวบัญชาให้ววัสสวลาหกเทวราชไปบันดาลให้มหาเมฆตั้งขึ้นทางทิศปัจจิม แล้วยังฝนให้ตกเต็มภูมิภาคที่แห้งแล้งนั้น มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายก็พากันพ้นจากทุกข์ภัยด้วยพระมหากรุณาเป็นมหัศจรรย์

อีกสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถึ ทรงปรารภวันดีของสัตว์ทั้งหลาย จึงมีพระพุทธฎีกาเรียกพระภิกษุทั้งหลายประชุมแล้วตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด ประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ในสมัยเบื้องต้นแห่งวัน คือตอนเช้า สมัยนั้นแหละเป็นเบื้องต้นแห่งวันดีของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ในสมัยสิ้นไปแห่งวัน คือตอนเย็น สมัยนั้นแหละเป็นสมัยที่สิ้นไปแห่งวันดีของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น “

บทว่า “ ชะยันโต โพธิยา มูเล....” เป็นคาถาแสดงชัยชนะของพระพุทธเจ้า คือเมื่อใกล้จะได้บรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งนั้น พญามารวัสสวดีผู้มีใจริษยา ได้ยกพยุหแสนยากรมาผจญพระองค์เพื่อให้คลายจากโพธิญาณ พระองค์ทรงนึกถึงสมติงสบารมี มีทานบารมี(สมติงสบารมี หรือ สมตึสปารมี หรือ สมดึงสบารมี แปลว่า บารมี ๓๐ ถ้วน คือ ทศบารมี หรือบารมีทั้ง ๑๐ แต่ละบารมีต้องปฏิบัติครบ ๓ ขั้น คือ ขั้นต้นเรียกว่า บารมี ขั้นจวนจะสูงสุดเรียก อุปบารมี และขั้นสูงสุดเรียก ปรมัตถบารมี)
ธรรมปริทรรศน์

ชัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อใกล้จะได้บรรลุเป็นพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ครั้งนั้นพญามารวสวัสดีผู้มีน้ำใจริษยาพระองค์ ได้ยกพยุหแสนยากรมาผจญพระองค์เพื่อให้คลายเสียจากโพธิญาณ พระองค์ทรงนึถึงสมติงบารมี มีทานบารมี เป็นต้น เป็นกำลังคุ้มครองพระองค์ และทั้งทรงระลึกถึงนางพระธรณีขอให้มาเป็นทิพยพยาน ในการที่พระองค์ได้ทรงบริจาคทานมาแล้วช้านาน นางพระธรณีก็ได้มาสำแดงตนให้ปรากฏ แล้วบิดน้ำทักษิโณทกของพระองค์ ที่ได้ทรงหลั่งไว้ทุกครั้งทุกคราวที่สร้างพระบารมีออกมาจากมวยผมของตน ทำให้น้ำท่วมหมู่มารที่มาผจญกระจัดกระจายไป พญามารและไพร่พลก็ถึงซึ่งความปราชัย และมารทั้งหลายก็ได้รู้แก่ใจว่า ทานบารมีนี้มีอานุภาพมาก ตนมิอาจที่จะต่อสู้ได้ ก็เกิดความเลื่อมใสได้กระทำความนอบน้อมแด่พระองค์แล้วจึงกลับไป

ในส่วนของฤกษ์ยาม มีคนจำนวนมากได้ให้ความสำคัญจนต้องมีการดูหมอทายดวง และเชื่อตามที่หมอทำนายทายทัก หรือบางทีอาจทำให้ไร้ซึ่งผลอันดีงามได้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสอนเกี่ยวกับฤกษ์ยามว่า ควรประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจในเวลาเช้า จะทำให้เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดี ถ้าประพฤติสุจริตเวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดี ถ้าประพฤติสุจริตในเวลาเย็น ก็เป็นเวลาเย็นที่ดี ถ้าประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นก็ชื่อว่าฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาดี

แนวทางปฏิบัติ

บทชะยะปริตรนี้ นับเป็นปริตรสุดท้ายในสิบสองตำนาน แต่เป็นมนต์ที่ใช้ในพิธีมงคลต่าง ๆ เป็นการบอกปฐมฤกษ์แห่งความสำเร็จ เป็นการเปิดประตูชัยให้ปลอดโปร่งสาธุการ จะเป็นงานเปิดร้าน รดน้ำสังข์คู่บ่าวสาว โกนจุก ตัดผมไฟ ประพรมน้ำพุทธมนต์ พระคาถานี้จะกึกก้องสาธยาย เพราะเป็นคำอวยชัยให้พรเป็นสิริมงคล ดุจดังสมเด็จพระทศพลทรงชนะหมู่มาร ประกาศความเป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณภายใต้ควงไม้โพธิ์ บทชะยะปริตร หรือ บทชะยันโต นี้เป็นมนต์บทเฉลิมฉลองความสำเร็จในกิจน้อยใหญ่

ในหมู่ผู้นิยมดำรงตนอยู่โดยชัยมงคล จะนำบทนี้มาสาธยายโดยแบ่งส่วนเป็น ๓ คือ

อัตถายะ หิตายะ สุขายะ เรียกว่าการ สวดชะยันโต เสริมสิริมงคล ๓ กาล

ยามใดที่เรามีจิตหวั่นไหว การงานที่ตั้งใจไว้ไม่เป็นไปตามปรารถนา ขอจงระลึกถึงพระกรุณาอันยิ่งกว่ามหรรณพของพระพุทธเจ้า โดยตั้งจิตไว้ที่พุทธานุสสติแล้วสาธยายบท มหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สุขายะ... เป็นลำดับ เพื่อให้เกิดพลังจากความกรุณาของพระพุทธองค์ และให้เกิดความกรุณาเปิดทางให้ผ่านอุปสรรคความลำบากสู่ทางสำเร็จ

คราวใดที่ความตั้งใจไว้ในสิ่งใดบรรลุผลแล้ว นำความเบิกบานหรือนำบทเฉลิมฉลองที่ขึ้นว่า ชะยันโต โพธิยา... เป็นต้น ไปจนจบ อันจะเกิดพลังแห่งการขยายผลในความสำเร็จนั้นให้ไพศาลยิ่งขึ้น

อานิสงส์

๑. ย่อมไดรับความกรุณาเกื้อกูลจากผู้ใหญ่ เปิดทางให้ผ่านสู่ความสำเร็จ

๒. ย่อมได้รับชัยชนะตามพุทธบารมี หมู่มารน้อยใหญ่พ่ายแพ้ อุปสรรคทั้งปวงพ้นไป

๓. ย่อมได้รับดิถีฤกษ์อันเป็นสิริมงคล เริ่มต้นงานใด ภารกิจใด สู่เส้นชัยโดยสวัสดี

๔. ย่อมได้รับประโยชน์ ความสุข และการสรรเสริญจากชนหมู่ใหญ่

ข้อควรรู้


๑. โดยทั่วไปเรียกบท มหากาฯ หรือ มหาการุณิโก มีลักษณะการประพันธ์เป็นฉันทลักษณ์ชื่อปัฐยาวัตรฉันท์ มี ๖ พระคาถา

๒. เป็นคาถาแสดงชัยชนะของพระพุทธเจ้า เมื่อใกล้จะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

๓. ฤกษ์ดียามดีในพระพุทธศาสนา คือฤกษ์หรือเวลาที่กาย วาจา และใจ ได้กระทำ กล่าว และคิดดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น