วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วัฎฎะกะปะริตตัง

ตำนานของ วัฏฏะกะปะริตตัง
`พระศาสดา เมื่อเสด็จเที่ยวจาริกไปในมคธชนบททั้งหลาย ทรงปรารภการดับไฟป่า จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สนฺติ ปกฺขา ดังนี้.
ความพิศดารว่า สมัยหนึ่ง พระศาสดา เมื่อเสด็จเที่ยวจาริกไปในมคธชนบททั้งหลาย ได้เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ในหมู่บ้านชาวมคธแห่งหนึ่ง เสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต อันหมู่ภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จดำเนินสู่ทาง. สมัยนั้น ไฟป่าเป็นอันมากตั้งขึ้น ภิกษุเป็นอันมาก เห็นทั้งข้างหน้าและข้างหลัง. ไฟแม้นั้นแล มีควันเป็นกลุ่มเดียว มีเปลวเป็นกลุ่มเดียว กำลังลุกลามมาอยู่ทีเดียว บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุปุถุชนพวกหนึ่งกลัวต่อมรณภัย กล่าวว่า พวกเราจะจุดไฟตัดทางไฟ ไฟที่ไหม้มาจักไม่ไหม้ท่วมทับที่ ที่ไฟนั้นไหม้แล้ว จึงนำหินเหล็กไฟออกมาจุดไฟ.
ภิกษุอีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ พวกท่านกระทำกรรมชื่ออะไร พวกท่านไม่เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นบุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ผู้เสด็จไปพร้อมกับตนนั่นเอง เหมือนคนไม่เห็นดวงจันทร์ลอยเด่นอยู่ในท้องฟ้า ไม่เห็นดวงอาทิตย์ประดับด้วยรัศมีตั้งพัน กำลังขึ้นจากโลกธาตุ ด้านทิศตะวันออก เหมือนคนยืนอยู่ที่ริมฝั่งทะเล ไม่เห็นทะเล เหมือนคนยืนพิงเขาสิเนรุ ไม่เห็นเขาสิเนรุ ฉะนั้น พากันพูดว่า จะจุดไฟตัดทางไฟ ชื่อว่า พระกำลังของพระพุทธเจ้า พวกท่านไม่รู้ มาเถิดท่าน พวกเราจักไปยังสำนักของพระศาสดา. ภิกษุเหล่านั้น เมื่อไปทั้งข้างหน้าและข้างหลัง แม้ทั้งหมดได้รวมกันไปยังสำนักของพระทศพล พระศาสดามีภิกษุหมู่ใหญ่เป็นบริวาร ได้ประทับยืนอยู่ ณ ประเทศแห่งหนึ่ง ไฟป่าไหม้เสียงดังมาเหมือนจะท่วมทับ ครั้นมาถึงที่ที่พระตถาคตประทับยืน พอถึงที่ประมาณ ๑๖ กรีส (หรือหนึ่งกิโลครึ่ง) รอบประเทศนั้นก็ดับไป เหมือนคบไฟที่เขาจุ่มลงในนํ้า ฉะนั้น ไม่อาจท่วมทับที่ประมาณ ๓๒ กรีส โดยการแลบเข้าไป. ภิกษุทั้งหลายพากันกล่าวคุณของพระศาสดา ว่า น่าอัศจรรย์ ชื่อว่าพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ไฟนี้ไม่มีจิตใจ ยังไม่อาจท่วมทับที่ที่พระพุทธเจ้าประทับยืน ย่อมดับไป เหมือนคบเพลิงหญ้าดับด้วยนํ้า ฉะนั้น น่าอัศจรรย์ ชื่อว่าอานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. พระศาสดาได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ไฟนี้ถึงภูมิประเทศนี้แล้วดับไป เป็นกำลังของเราในบัดนี้เท่านั้น หามิได้ ก็ข้อนี้เป็นกำลังแห่งสัจจะอันมีในก่อนของเรา ด้วยว่าในประเทศที่นี้ ไฟจักไม่ลุกโพลงตลอดกัปนี้แม้ทั้งสิ้น นี้ชื่อว่าปาฏิหาริย์ตั้งอยู่ตลอดกัป. ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ปูลาดสังฆาฏิ ๔ ชั้น เพื่อต้องการเป็นที่ประทับนั่งของพระศาสดา พระศาสดาประทับนั่งขัดสมาธิ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ก็ถวายบังคมพระตถาคต แล้วนั่งแวดล้อมอยู่.ลำดับนั้น พระศาสดาอันภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้ปรากฏแล้วแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายก่อน ส่วนเรื่องอดีตยังลี้ลับ ขอพระองค์โปรดกระทำเรื่องอดีตนั้นให้ปรากฏแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย. จึงทรงนำเรื่องอดีตมา ดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล ในประเทศนั้นนั่นแหละในแคว้นมคธ พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดนกคุ่ม เกิดจากท้องมารดา ในเวลาทำลายกะเปาะฟองไข่ออกมา ได้เป็นลูกนกคุ่ม มีตัวประมาณเท่า ดุมเกวียนบรรทุกสินค้า ขนาดใหญ่. ลำดับนั้น บิดามารดาให้พระโพธิสัตว์นั้นนอนในรัง แล้วนำอาหารมาเลี้ยงดูด้วยจะงอยปาก. พระโพธิสัตว์นั้นไม่มีกำลังที่จะเหยียดปีกออกบินไปในอากาศ หรือไม่มีกำลังที่จะยกเท้าเดินไปบนที่ดอน และไฟป่าย่อมไหม้ประเทศนั้นทุกปีๆ. สมัยแม้นั้น ไฟป่านั้นก็ไหม้ประเทศนั้นเสียงดังลั่น. หมู่นกพากันออกจากรังของตนๆ ต่างกลัวต่อมรณภัย ส่งเสียงร้องหนีไป บิดามารดา แม้ของพระโพธิสัตว์ก็กลัวต่อมรณภัย จึงทิ้งพระโพธิสัตว์หนีไป.
พระโพธิสัตว์นอนอยู่ในรังนั่นเอง ชะเง้อคอแลเห็นไฟป่ากำลังไหม้ตลบมา จึงคิดว่า ถ้าเราจะพึงมีกำลังที่จะเหยียดปีกออกบินไปในอากาศไซร้ เราก็จะพึงโบยบินไปที่อื่น ถ้าเราจะพึงมีกำลังที่จะยกเท้าเดินไปบนบกได้ไซร้ เราก็จะย่างเท้าไปที่อื่นเสีย ฝ่ายบิดามารดาของเราก็กลัวแต่มรณภัย ทิ้งเราไว้แต่ผู้เดียว เมื่อจะป้องกันตน จึงได้หนีไป. บัดนี้ ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เราไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง วันนี้ เราจะทำอย่างไรหนอ จึงจะควร. ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ชื่อว่าคุณแห่งศีล ย่อมมีอยู่ในโลกนี้ ชื่อว่าคุณแห่งสัจจะก็ย่อมมี ในอดีตกาล ชื่อว่าพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายประทับนั่งที่พื้นต้นโพธิ ได้ตรัสรู้พร้อมยิ่งแล้ว ทรงเพียบพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ ทรงประกอบด้วยสัจจะ ความเอ็นดู ความกรุณา และขันติ ย่อมมีอยู่ และคุณของพระธรรมทั้งหลายที่พระสัพพัญญพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น ทรงรู้แจ้งแล้วย่อมมีอยู่. เออก็ความสัจอย่างหนึ่ง ย่อมมีอยู่ในเราแท้ สภาวธรรมอย่างหนึ่งย่อมมีปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น เราจะรำลึกถึงอดีตพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และคุณทั้งหลายที่อดีตพระพุทธเจ้าเหล่านั้นรู้แจ้งแล้ว ถือเอาสภาวธรรม คือสัจจะซึ่งมีอยู่ในเรา กระทำสัจกิริยาให้ไฟถอยกลับไป กระทำความปลอดภัยแก่ตนและหมู่นกที่เหลือในวันนี้ ย่อมควร. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า คุณแห่งศีลมีอยู่ในโลก ความสัตย์ ความสะอาด และความเอ็นดู มีอยู่ในโลก ด้วยความสัจนั้น ข้าพเจ้าจักทำสัจกิริยาอันยอดเยี่ยม ข้าพเจ้าพิจารณากำลังแห่งธรรม ระลึกถึงพระชินเจ้าทั้งหลายในปางก่อน อาศัยกำลังสัจจะ ขอทำสัจกิริยา.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ระลึกถึง พระคุณทั้งหลายของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ปรินิพพาน ไปแล้วในอดีต แล้วปรารภสภาวะ คือสัจจะซึ่งมีอยู่ในตน เมื่อจะทำสัจกิริยา จึงกล่าวคาถานี้ว่า
คุณของศีลมีอยู่ คุณของธรรมมีอยู่ คุณของสัจจะวาจานี้ก็มีอยู่จริง ปีกทั้งสองข้างเรามีอยู่ แต่ยังบินไม่ได้ เท้าเราทั้งสองข้างมีอยู่ แต่ยังเดินไม่ได้ บิดามารดาทั้งสองเรามีอยู่ แต่บัดนี้มิได้อยู่กับเรา นี้เป็นสัจจะวาจาของเรา ไฟป่าที่ไม่มีชีวิตเอ๋ย ด้วยเดชแห่งสัจจะวาจานี้ ขอไฟป่าจงดับไป

(ครั้นเมื่อสิ้นสัจจะอธิษฐานของลูกนกคุ้ม ไฟป่าที่ไหม้มาทั้ง ๔ ทิศ ก็ดับลงโดยพลัน ดุจดังบุคคลถือคบเพลิงที่มีเพลิงลุก แล้วจุ่มลงในน้ำฉะนั้น ไฟนั้นก็พลันดับไปในทันที) พร้อมกับสัจกิริยาของพระโพธิสัตว์นั้น ไฟได้ถอยกลับไปในที่ประมาณ ๑๖ กรีส และเมื่อถอยไป ก็ไปไหม้ยังที่อื่นในป่า ไฟดับเฉพาะในที่นั้น เหมือนคบเพลิงอันบุคคลให้จมลงในนํ้า ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เมื่อเราทำสัจจะ เปลวไฟอันรุ่งเรืองใหญ่หลีกไป ๑๖ กรีส พร้อมด้วยคำสัตย์ ประหนึ่งเปลวไฟอันตกถึงนํ้าก็ดับไป ฉะนั้น สิ่งไรเสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี นี้เป็นสัจบารมี ของเรา ดังนี้. ก็สถานที่นี้นั้นเกิดเป็นปาฏิหาริย์ ชื่อว่าตั้งอยู่ชั่วกัป เพราะไฟจะไม่ไหม้ในกัปนี้แม้ทั้งสิ้น. พระโพธิสัตว์ ครั้นทำสัจกิริยาอย่างนี้แล้ว ในเวลาสิ้นชีวิตได้ไปตามยถากรรม. พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่ไฟไม่ไหม้สถานที่นี้ เป็นกำลังของเราในบัดนี้ หามิได้ ก็กำลังนั่นเป็นของเก่า เป็นสัจพลังของเราเองในครั้งเป็นลูกนกคุ่ม ดังนี้.  ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกบรรลุพระอรหัต. ฝ่ายพระศาสดาก็ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า มารดาบิดาในครั้งนั้นคงเป็น มารดาบิดา อยู่ตามเดิมในบัดนี้ ส่วนพระยานกคุ่ม ได้เป็น เราตถาคต แล.


วัฎฎะกะปะริตตัง
อัตถิ  โลเก  สีละคุโณ                                              สัจจัง  โสเจยยะนุททะยา
เตนะ  สัจเจนะ  กาหามิ                                           สัจจะกิริยะมะนุตตะรัง
อาวัชชิตํวา  ธัมมะพะลัง                                         สะริตํวา  ปุพพะเก  ชิเน
สัจจะพะละมะวัสสายะ                                          สัจจะกิริยะมะกาสะหัง
สันติ  ปักขา  อะปัตตะนา                                        สันติ  ปาทา  อะวัญจะนา
มาตา  ปิตา  จะ  นิกขันตา                                        ชาตะเวทะ  ปะฎิกกะมะ
สะหะ  สัจเจ  กะเต  มัยหัง                                      มะหาปัชชะลิโต  สีขี
วัชเชสิ  โสฬะสะ  กะรีสานิ                                     อุทะกัง  ปัตํวา  ยะถา  สีขี

สัจเจนะ  เม  สะโม  นัตถิ                                        เอสา  เม   สัจจะปาระมีติ ฯ


คำแปล
        คุณคือศีล ความสัตย์ ความสะอาดและความเอ็นดูมีอยู่ในโลก  ด้วยคำสัตย์นั้น  เราจักทำสัจจะกิริยา  อันยอดเยี่ยม  เราน้อมนึกถึงกำลังแห่งพระธรรม รำลึกถึงพระชินะพุทธเจ้าทั้งหลาย ในปางก่อน  เราศัยกำลังแห่งสัจจะ จึงขอทำสัจจะกิริยา  ปีกทั้งสองของเรามีอยู่ แต่บินไม่ได้  เท้าทั้งสองของเรามีอยู่  แต่เดินไม่ได้  มารดาและบิดาของเรา ก็ออกไปหาอาหารเสีย  นี่แนะไฟป่าขอท่านจงหลีกไปเสียเถิด 

        เมื่อเราทำสัจจะแล้ว เปลวไฟอันลุกโชติช่วง ก็หลีกไปห่างไปถึง ๑๖ กรีส ดุจดังเปลวไฟที่ตกถึงน้ำแล้วย่อมดับไป  ฉะนั้นสัจจะอื่นเสมอด้วยสัจจะของเรา ย่อมไม่มี  นี้เป็นสัจจะบารมีของเรา ดังนี้แล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น