วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประวัติครูบาเจ้าอภิชัยขาวปีจบ

ประวัติครูบาเจ้าอภิชัยขาวปีจบ
ถูกบังคับให้สึกและครองผ้าขาวครั้งที่ 2

            ที่ระมาดนี่เอง  ก็มีเรื่องเศร้าใจเกิดขึ้นอีกกล่าวคือ  เมื่อสร้างโบสถ์แม่ระมาดนั้นเงินไม่พอ  ยังขาดอยู่อีก 700 บาท  เป็นค่ารักค่าคำเปลว 400 บาท  กับค่านายช่างอีก 300  บาท  ท่านก็ปรึกษาเรี่ยไรเอาจากชาวบ้าน  แล้วช่วยกันสร้างต่อ  จนแล้วเสร็จทันฉลองจนเรื่องการเรี่ยไรนี้ทราบถึงอำเภอ  จึงเรียกกำนันไปสอบสวนว่า  อภิชัยภิกษุ  เรี่ยไรจริงหรือไม่  กำนันก็ยอมรับว่าจริง  แต่ด้วยความเต็มใจของชาวบ้าน  เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้นงานสร้างโบสถ์ก็หยุดชะงักทางอำเภอก็ว่าเต็มใจหรือไม่ก็ผิดเพราะเป็นพระเป็นเจ้าจะทำการเรี่ยไรไม่ได้ผิดระเบียบพระสงฆ์  แล้วรายงานเรื่องนี้ไปยังเจ้าคณะจังหวัดต่างๆ  จึงตัดสินว่า  ให้สึกพระอภิชัยเสีย  ท่านจึงยอมสึกจากภาวะความเป็นภิกษุอีกครั้ง  ท่ามกลางความสลดหดหู่ใจของผู้คนที่รู้เห็นเป็นอันมากที่ครูบาของพวกเขาต้องมารับกรรมเพราะทำความดี  อย่างไม่ยุติธรรม  ท่านต้องห่มแบบชีปะขาวอีกครั้งหนึ่ง  ที่ใต้ต้นประดู่ที่ยืนแห้งตายซากมานานแรมปี  ณ ที่นี้เองมีเรื่องอัศจรรย์สมควรจะบันทึกไว้คือ  พอท่านเปลี่ยนผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากกายมาคลองผ้าขาวเท่านั้น  ต้นประดู่ที่แห้งโกร๋นปราศจากใบก็ผลิดอกออกใบฟื้นขึ้นมาอีก  ท่ามกลางความอัศจรรย์ใจของคนที่มาชุมนุมเป็นอันมาก  ต่างพากันหลั่งน้ำตา  ล้มตัวก้มลงกราบโดยพร้อมเพรียงกันนับเป็นปรากฏการณ์ที่จะไม่เห็นอีกในชีวิต
มารตามรังควาน

            ไม่นานจากนั้น  ท่านพร้อมกับผู้ติดตาม  ก็มุ่งกลับสู่อำเภอลี้โดยรอนแรมมาเป็นระยะเวลา ถึง 10วัน 10  คืนก็เดินทางมาถึง อ.ลี้  พักอยู่ที่กลางทุ่งนาบ้านป่าหก  ได้ 4  คืน  นายอำเภอลี้  จึงให้ตำรวจมาขับไล่ไม่ให้อยู่โดยไม่มีเหตุผล  ด้วยความใจดำเป็นอย่างยิ่ง  ท่านจึงมาพักอยู่กลางทุ่งนาบ้านแม่ตืน  ณ  ที่นี้ก็ถูกทางอำเภอกลั่นแกล้งอีก  โดยรายงานไปทางจังหวัดหาว่าชีปะขาวนำปืนเถื่อนจากแม่สอดมาถึง 1,000กระบอก  หลังจากรับรายงาน  จึงมีบัญชาให้  นายร้อยตำรวจ  2  คนกับพระครู รูป  ขึ้นมาทำการสืบค้นไต่สวน  ท่านว่า “ไม่เป็นความจริงหรอก  อาตมาเดินทางผ่านมาตั้งสองจังหวัดแล้ว  ยังไม่เห็นมีใครมากล่าวหาเช่นนี้เลย  ถ้าท่านไม่เชื่อเชิญค้นดูเองเถิด”  ตำรวจทั้งสองก็ค้นสัมภาระของคณะผู้ติดตามดู  ก็พบปืนแก๊ป 1 กระบอก  แต่ปรากฎว่าเป็นปืนมีทะเบียนของชาวบ้านผู้ติดตามคนหนึ่งจึงไม่ว่าอะไร  จากนั้นก็ไปค้นจนทั่วลามปามเข้าค้นถึงในวัดแม่ตืนจนพระเณรแตกตื่นเป็นโกลาหล  แต่ก็ไม่พบอะไรอีก  จึงพาเดินทางกลับด้วยความผิดหวังก่อนกลับก็ไปต่อว่าต่อขานทางอำเภอลี้เสียหนาม้านเสียว่าหลอกให้เดินทางมาเสียเวลาเปล่า  เหนื่อยแทบตาย(เพราะสมัยนั้นไม่มีรถยนต์แม้แต่คันเดียว)  ทางอำเภอจึงจำเป็นต้องออกค่าเดินทาง  พร้อมเสบียงอาหารให้คณะนายตำรวจ  ดังกล่าวเดินทางกลับ  เสร็จจากเรื่องที่กล่าวหานั้นแล้ว  ท่านพร้อมกับคณะก็เดินทางจากแม่ตืนไปหาท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย  ที่วัดพระนอนปูคา  บ้านปูคา  อำเภอสันกำแพง  เชียงใหม่  ระหว่างทางพักที่วัดห้วยกานคืนหนึ่ง  เมื่อเข้าเขตกิ่งบ้านโฮ่ง  ชาวบ้านก็พาตำรวจมาดักจับอีกด้วยข้อหาอะไรไม่แจ้ง  แต่ตำรวจก็จับไม่ไหว  เพราะคนตั้งมากมาย  ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไร  จึงล่าถอยไป  ท่านจึงไปพักที่วัดดงฤาษีคืนหนึ่ง  แล้งมุ่งไปทางบ้านหนองล่อง  ณ  ที่นี้ถูกคณะข้าหลวงดักจับอีก  แต่จับไม่ไหวอีกเช่นกัน
ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มาขอพบ
            เมื่อถึงวัดท่าลี่  ขณะที่พักอยู่ที่ศาลา  ในตอนเย็น  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จึงเข้าไปสอบถาม
            ผู้ว่าฯ  “ท่านอยู่บ้านใด  เกิดที่ไหน”
            ครูบาฯ “เดิมอาตมาอยู่บ้านแม่เทย  อ.ลี้   ลำพูนนี่เอง”
            ผู้ว่าฯ  “อ้อ  ท่านก็เป็นคนเมืองเราเหมือนกัน  ก่อนมาถึงที่นี่ท่านไปไหนมา”
            ครูบาฯ   “อาตมามาจากพม่า”
            ผู้ว่าฯ  “ไปอยู่นานไหม”
            ครูบาฯ   “ปีแล้ว”
            ผู้ว่าฯ    “อือ  ก็ไม่เห็นมีอะไรดังที่เขาเล่าลือ  แต่ก็มีอีกอย่างขอให้ท่านเสียค่าประถมศึกษา  8  บาท  ให้กับทางอำเภอเสีย  ตามระเบียบที่ทางการกำหนดไว้  หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไร”
            ขณะนั้นกำนันกับชาวบ้านที่ร่วมชุมนุมอยู่  ณ  ที่นั้นได้ยินจึงช่วยกับบริจาคให้ท่านได้ถึง 15  บาท  จึงมอบให้กับนายตำรวจคนหนึ่งที่มากับผู้ว่าฯไป  แต่นับว่าเป็นคราวเคราะห์ของตำรวจคนนั้น  ซึ่งพอรับเงินสักครู่ก็ทำหายเสีย   ต้องควักกระเป๋าตัวเองจ่ายไปแทนตามระเบียบ

            หลังจากพักที่ท่าลี่คืนหนึ่งแล้ว  ท่านพร้อมกับคณะก็ขนของข้ามแม่น้ำปิงไปขึ้นรถ  ไปจนถึงวัดพระนอนปูคาแล้วอยู่ร่วมฉลองวิหารพรนอนปูคา  ร่วมกับท่านครูบาศรีวิชัยจนเสร็จแล้ว  แล้วก็กลับมาหมายจะมาจำพรรษาที่วัดแม่ตื้น อ.ลี้ อีก   แต่นายอำเภอก็สั่งให้กำนันมาไล่ไม่ให้มาอยู่เด็ดขาด   
สร้างวัดพระบาทตะเมาะ

            ก็พอดีท่านคิดได้ว่ามีญาติทางพ่อของท่านเป็นกำนันอยู่ที่ตำบลดอยเต่า  จึงให้คนมา บอกให้มาพบท่าน  เมื่อกำนันมาถึงแล้วท่านก็ถามว่า “อาตมาจะไปอยู่ที่วัดพระบาทตะเมาะได้หรือไม่”  กำนันดอยเต่าจึงไปปรึกษากับทางอำเภอ  จึงบอกว่า  ดีแล้ว  ให้ไปบอกให้ท่านมาอยู่เร็วๆเถิด  ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ไปอยู่ที่วัดพระบาทตะเมาะ  โดยสร้างอารามขึ้นที่นั่นด้วยความร่วมมือทั้งฝ่ายนายอำเภอและป่าไม้อำเภอให้จับจองที่กว้างยาว  500 วา  ยาว  500 วา  และที่พระบาทตะเมาะนี่เอง  ท่านได้สร้างวิหารครอบรอยพุทธบาทหนึ่งหลัง  มีเจดีย์ตั้งอยู่บนวิหาร ยอด  นับว่าเป็นศิลปะที่งดงาม  ปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนี้  ซึ่งท่านจะไปเที่ยวชมได้นับเป็นวิเวกสถานที่เหมาะกับผู้ใฝ่หาความสงบที่เหมาะมากอีกแห่งหนึ่ง
ช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ

            แต่ด้วยวิญญาณของนักพัฒนาท่านก็อยู่จำพรรษาที่วัดพระบาทตะเมาะไม่นาน  ขณะนั้นครูบาศรีวิชัยกำลังสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ  เชียงใหม่อยู่ท่านจึงพากะเหรี่ยง 500 คน  ขึ้นไปช่วยทำถนนขึ้นกับดอยสุเทพกับอาจารย์จนเสร็จสิ้น  จึงกลับลงมาพักกับอาจารย์ที่วัดพระสิงห์
อุปสมบทครั้งที่ 3
            ที่วัดพระสิงห์นี้ครูบาศรีวิชัยก็อุปสมบทให้ท่านเป็นภิกษุอีกเป็นครั้งที่ 3 แต่กระนั้นก็ตาม  ดูเหมือนว่าท่านไม่มีบุญพอที่จะอยู่ในผ้าเหลืองได้นานๆ  ก็พอดีกับท่านครูบาศรีวิชัย  ก็ต้องเกิดคดีต่างๆ นานา  ต้องเดินทางไปกรุงเทพ ฯ   คงทิ้งให้ท่านอยู่รักษาวัดพระสิงห์แต่เพียงผู้เดียว  
ครองผ้าขาวครั้งที่  3

            ด้วยจิตใจที่เป็นห่วงในตัวของอาจารย์ท่านยิ่งนัก  มีพระครูวัดเกตุการามกับท่านพระครูวัดพันอ้นรูปหนึ่งมาบอกให้ท่านสึกเสีย  เพราะมิฉะนั้นครูบาศรีวิชัยจะถูกจำคุก  ท่านจึงสึกเป็นชีปะขาวอีกครั้งหนึ่ง  นับเป็นครั้งสุดท้ายแล้วจึงออกจากวัดพระสิงห์กลับไปพักที่วัดบ้านปางด้วยความเหงาใจ  แต่ท่านก็ไม่ละทิ้งงานก่อสร้าง  จึงได้สร้างกุฎิที่วัดบ้านปางด้วย หลัง  แล้วกลับไปอยู่วัดพระบาทตะเมาะตามเดิม
สูญเสียอาจารย์
            ชีวิตท่านช่วงนี้  คงมุ่งอยู่กับงานก่อสร้างไม่หยุดหย่อน  จากที่นี่ย้ายไปที่นั่นไม่มีที่สิ้นสุด  จนกระทั่งครูบาศรีวิชัยพ้นจากมลทินที่ถูกกล่าวหาท่ามกลางความดีใจของสาธุชนทั้งหลาย  แต่ความดีใจนั้นคงอยู่ได้ไม่นานท่านครูบาศรีวิชัยก็ได้อาพาธหนัก  แล้วถึงแก่มรณภาพลงในที่สุด  ยังความโศกาดูรให้เกิดแก่มหาชนผู้เลื่อมใสโดยทั่วไป  ลานนาไทยได้สูญเสียนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ  หากจะเอาสียงร่ำไห้มารวมกันแล้วใช้เสียงแห่งความวิปโยคนี้คงได้ยินไปถึงสวรรค์ท่านเองในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ที่ท่านอาจารย์ได้พร่ำสอนตั้งแต่ยังเล็กๆก็มีความเศร้าโศกเสียใจมิใช่น้อยแต่ก็ปลงได้ด้วยได้ด้วยธรรมสังเวชโดยอารมณ์กรรมฐาน  ท่านจึงสร้างเมรุหลังหนึ่งกับปราสาทหลังหนึ่งพร้อมกับหีบบรรจุศพ  เพื่อเก็บไว้รอการฌาปนกิจต่อไปที่วัดบ้านปางซึ่งได้มีการฌาปนกิจศพท่านครูบาศรีวิชัยอีกไม่กี่ปีหลังมรณภาพไม่นาน
สร้างวัดผาหนาม  ที่พำนักในปัจฉิมวัย
            วันคืนยังคงหมุนไป

พร้อมกับความเป็นนักก่อสร้างพัฒนาของท่านก็ยิ่งลือกระฉ่อนยิ่งขึ้น    เมื่อขาดท่านครูบาศรีวิชัยผู้คนก็หลั่งไหลกันมาหาท่านอย่างมืดฟ้ามัวดินในฐานะทายาททางธรรมของครูบาศรีวิชัยผลงานระยะต่อมาเมื่อได้รับพลังอย่างท่วมท้นขึ้น  จึงยิ่งใหญ่เป็นลำดับ  และกว้างขวางหากำหนดมิได้โดยไม่เคยว่างเว้น  จนถึงพุทธศักราช 2470  อายุสังขารของท่านเริ่มชราลงแล้วคือมีอายุ 76 ปี  แต่ท่านยังคงแข็งแรง  ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ  ทั้งนี้  อาจจะด้วยอำนาจผลบุญที่ได้บำเพ็ญมาก็ได้  แต่ท่านได้คิดว่า  คนเราจะฝืนอำนาจกฎแห่งสังสารวัฎไปไม่ได้  จึงสมควรจะสร้างสถานที่สักแห่งหนึ่ง  เพื่อเป็นที่พักปฎิบัติธรรมในปัจฉิมวัย  ก็พอดีชาวบ้านผาหนามซึ่งอพยพมาจากอำเภอฮอด   หนีภัยน้ำท่วมมาอยู่ที่บ้านผาหนาม  อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน  มีพ่อน้อยฝน  ตุ่นวงศ์  เป็นประธาน  พร้อมกับชาวบ้านได้มานิมนต์ท่านให้ไปสร้างอารามใกล้เชิงดอยผาหนาม  เพื่อเป็นที่พึ่งกายใจและประกอบศาสนกิจ  ท่านก็รับนิมนต์  พร้อมกับชอบใจสถานที่ดังกล่าวและตั้งใจว่าจะเป็นสถานที่สุดท้าย  เพื่อเป็นที่พำนักและปฎิบัติธรรมของท่าน  จึงพร้อมใจกับคณะศรัทธาบ้านผาหนามและศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศก่อสร้างเป็นอารามขึ้นจากนั้นจนมีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตมากมายและท่านถือที่แห่งนี้เป็นที่พำนักอยู่เสมอ  แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะงดมิไปสร้าง  หรือพัฒนาที่อื่นอีก  แต่ยังคงไปเป็นประธานสร้างสถานที่ต่างๆ  ควบคู่กับงานสร้างวัดผาหนามอีกหลายๆ แห่ง
วันจากที่ยิ่งใหญ่
            แล้วในปี  2514  คณะศรัทธาวัดสันทุ่งฮาม  แห่งจังหวัดลำปาง  ก็ได้มานิมนต์ท่าน  เพื่อไปเป็นประธานในการก่อสร้างอีก  ซึ่งท่านก็ไม่ขัดข้องด้วยความเมตตาอันมีอยู่อย่างหาขอบเขตมิได้ของท่าน   แม้ตอนนั้นตัวท่านจะชราภาพมากแล้ว  คือมีอายุ  83 ปี  หลังจากที่ท่านเป็นประธานให้ที่วัดสันทุ่งฮ่ามได้ไม่นาน   คณะศรัทธาวัดท่าต้นธงชัย  จ.สุโขทัย  ได้มานิมนต์ท่าน  เพื่อเป็นประธานในการก่อสร้างวิหาร

            วันนั้นเป็นวันที่ 2 มีนาคม  2520    เมื่อถึงวันที่ 3 มีนาคม  2520  ท่านได้มาถึงวัดท่าต้นธงชัยแล้ว  เวลา 16.00น.  ท่านก็ได้มรณภาพ  จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่  ท่านได้ขอสร้างกระท่อมเป็นที่พักอาศัยมุงหลังคาใบจาก  เนื่องจากท่านไม่ต้องการที่พักที่ประดับอย่างประณีต    ท่านมรณภาพที่กระท่อมใต้ต้นนิโครธ  มีลมพายุใหญ่พัดมาที่กระท่อม   แล้วมีลูกไฟออกจากปากของท่านไป   ลูกไฟวิ่งชนฝากระท่อมทะลุลอยไปบนฟ้า   หลังจากท่านจากไปฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืนเจ็ดวันไม่หยุด  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น