วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

พิธีการทำบุญ

พิธีการทำบุญ
       ตามประเพณีของชาติที่เจริญแล้ว ย่อมมีพิธีการทำบุญต่าง ๆ กันตามคตินิยมของชนหมู่นั้น ๆ ชาตินั้น ๆ ภาษานั้น ๆ โดยเฉพาะพิธีการทางพระพุทธศาสนา เมื่อกล่าวโดยปริยายแล้วมีมากด้วยกัน แต่ถ้าจะกล่าวโดยสรุปก็คงมีเพียง ๒ ประการเท่านั้น คือ
๑. ทำบุญในงานมงคล
๒. ทำบุญในงานอวมงคล
       การทำบุญในงานมงคลนั้น ได้แก่การทำบุญเพื่อความสุข ความเจริญ โดยปรารภเหตุที่ดี ที่เป็นมงคล เช่น ทำบุญฉลองอายุครบ ๓ รอบ ๕ รอบ ๗ รอบ หรือทำบุญวันเกิด ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญฉลองพระพุทธรูป ทำบุญฉลองพระธรรมที่สร้างขึ้น และฉลองพระสงฆ์ที่อุปสมบทขึ้นใหม่ หรือทำบุญในงานมงคลโกนผมไฟ โกนจุก มงคลสมรส เป็นต้น เรียกว่าทำบุญในงานมงคล
การทำบุญในงานอวมงคลนั้น ได้แก่การทำบุญเพื่อความสุข ความเจริญ โดยปรารภเหตุที่ไม่สู้ดี แล้วจัดการทำบุญเพื่อกลับร้ายให้กลายเป็นดี เช่นปรารภการมรณกรรมของญาติมิตร หรือทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน หรือทำบุญเพื่ออุทิศกุศลตามธรรมเนียม หรือมีลางนิมิตร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น อสนีบาตตกต้องเคหสถาน  แร้งจับหลังคาบ้านเรือน สัตว์ที่ถือว่าไม่เป็นมงคลขึ้นบ้านเป็นต้น แล้วจัดการทำบุญเพื่อปัดเป่าอุบาทว์ หรือลางนิมิตร้ายเหล่านั้นให้กลับเป็นดีอย่างนี้เรียกว่าทำบุญในงานอวมงคล

การทำบุญทั้ง ๒ อย่างดังกล่าวนี้ ตามประเพณีนิยมในพระพุทธศาสนา มีวิธีการที่จะต้องจัดเตรียมการอีกหลายอย่าง ดังจะกล่าวเป็นข้อย่อย ๆ ดังต่อไปนี้
การทำบุญเลี้ยงพระ
๑. นิมนต์พระก่อน
       เมื่อกำหนดแน่นอนแล้วว่าจะทำบุญในวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น เวลานั้น กิจเบื้องต้นควรนิมนต์พระก่อน ด้วการเขียนฎีกานิมนต์พระล่วงหน้าอย่างน้อย ๓ วัน ๗ วัน ฎีกาสำหรับนิมนต์พระนั้นมีตัวอย่างดังนี้
ขออาราธนาพระคุณเจ้า (พร้อมด้วยพระสงฆ์ในวัดนี้อีก...รูป เจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดมนต์ หรือรับบิณฑบาต หรือแสดงธรรม
เทศนาแล้วแต่กรณีย์) ในงาน......................ที่.................ถนน...............
ตำบล...................อำเภอ.............................จังหวัด.......................กำหนด
วันที่...............เดือน...................พ.ศ........................เวลา.........................น.
รุ่งขึ้น.............เวลา....................น. รับภัตตาหาร.......................(เช้าหรือเพล)
ถ้าสวดมนต์และฉันวันเดียว หรือเวลาเดียวกัน ไม่ต้องใช้คำว่า รุ่งขึ้น เพียงแต่บอกว่าเจริญพระพุทธมนต์ แล้วรับบิณฑบาตเช้าหรือเพล ถ้าจะต้องใช้บาตรปิ่นโต ให้เขียนในท้ายฎีกา ว่ามีบาตรปิ่นโตด้วย หากจะมีรถหรือเรือรับส่ง ก็ลงหมายเหตุในท้ายฎีกา กำหนดเวลาให้พระได้ทราบล่วงหน้า
ถ้ารู้จักมักคุ้นกับพระสงฆ์ จะนิมนต์โดยไม่ต้องเขียนฎีกาก็ใช้ได้ แต่ขอเตือนว่าการนิมนต์พระสงฆ์มาฉันอาหารนั้น จงอย่างระบุชื่ออาหาร เช่น ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ถ้าระบุแล้ว จะขัดกับทางพระวินัยของสงฆ์ จึงมีสมณโวหารสำหรับนิมนต์พระมาฉันว่า นิมนต์รับิณฑบาตเช้า หรือเพล ดังนี้ หรือจะพูดว่า นิมนต์พระคุณเจ้า ฉันเช้าหรือฉันเพล ดังนี้ก็ใช้ได้

งานมงคลสมรส นิยมนิมนต์พระคู่ คือ ๖ รูป ๘ รูป ๑๐ รูป พราะคติโบราณเพื่อจะให้คู่บ่าวสาวนิมนต์ฝ่ายละจำนวนเท่าๆ กัน หรือรับเป็นเจ้าภาพฝ่ายละเท่า ๆ กัน ส่วนงานมงคลอื่น ๆ นิมนต์พระ ๕ รูป ๗ รูป ๙ รูป คือนิมนต์พระคี่ ถ้าเป็นงานทำบุญอายุ นิยมนิมนต์ให้เกินกว่าอายุขึ้นไป ถ้าว่าเป็นการเพิ่มอายุ
๒. เตรียมสถานที่และจัดอาสนะ

สถานที่ที่จะบำเพ็ญกุศลนั้น ๆ จะเป็นบ้านใหญ่ บ้านเล็ก บ้านใหม่ หรือ บ้านเก่าก็ตาม ถ้าได้จัดทำให้ถูกสุขลักษณะแล้ว ก็จะทำให้เจริญตา เจริญใจได้ การจัดอาสนสงฆ์นั้นต้องจัดให้สูงกว่าคฤหัสถ์ จัดให้นั่งห่างกันพอควร ใช้พรมหรือผ้าปูนั่งเฉพาะองค์ ๆ ถ้าไม่สามารถจะจัดที่เฉพาะองค์ ๆ ได้ ก็ใช้ผ้าขาวปูบนพรมรองนั่งอีกชั้นหนึ่งก็ยิ่งดี เพราะผ้าขาวเป็นของสูง เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงอีกด้วย จัดสถานที่พระนั่งเจริญพระพุทธมนต์ให้อยู่เบื้องซ้ายของพระพุทธรูป ถ้าสถานที่ไม่อำนวยหรือจำเป็นจะต้องจัดให้พระสงฆ์นั่งทางขวาของพระพุทธ ก็ควรจัดพระพุทธให้หันพระพักตร์มาทางพระสงฆ์ โดยไม่ต้องเข้าแถวกับพระสงฆ์
๓. จัดภาชนะเครื่องใช้สำหรับพระ
       ถ้ามีของมากก็จัดถวายองค์ละที่ โดยตั้งทางขวามือของพระ หาก
มีของน้อยจะจัดเพียง ๒ องค์ต่อ ๑ ที่ก็ใช้ได้ ส่วนถ้วยน้ำร้อน แก้วน้ำเย็น
ต้องใช้องค์ละที่ ตั้งใจระหว่าง ๆของที่จำเป็นต้องใช้คือ กระโถน ภาชนะ
น้ำเย็น พานหมากพลูบุหรี่ จัดตั้งกระโถนอยู่ข้างใน ถัดออกมาภาชนะ

น้ำเย็น แล้วถึงหมากพลูบุหรี่ เป็นที่สุด ส่วนน้ำร้อนประเคนภายหลัง
๔. จัดเครื่องตั้งสักการบูชา
       อัญเชิญ พระพุทธรูปมาตั้ง บนโต๊ะบูชาที่เตรียมไว้อย่างสะอาดและสวยงาม ทางขวามือของอาสนพระสงฆ์ ดังกล่าวแล้ว ถ้าเป็นโต๊ะหมู่ต้องจัดให้ถูกต้องตามระเบียบ ถ้าไม่มีโต๊ะหมู่แต่ใช้โต๊ะอื่นแทนต้องหาสิ่งประกอบตามสมควร เช่น แจกัน เชิงเทียน กระถางธูป สำหรับกระถางธูปหรือเครื่องใช้อื่นใดที่ประกอบกับโต๊ะบูชา พึงระวังให้ดี ไม่ควรใช้ภาชนะอันน่ารังเกียจ เช่น กระโถน เป็นต้น
๕. ภาชนะสำหรับใส่น้ำมนต์

จะใช้บาตรหรือหม้อน้ำมนต์ หรือขันน้ำพานรองทองเหลือง หรือขันมีเชิงรองอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ใส่น้ำประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ขันเงิน ขันทองไม่ควรใช้ เพราะไม่สะดวกแก่การที่พระจะจับต้อง เนื่องจากของเหล่านั้นเป็นวัตถุอนามาส ขัดกับพระวินัยสงฆ์
๖. เครื่องประกอบน้ำพระพุทธมนต์


       เตรียมเทียนทำน้ำมนต์ไว้ ๑ เล่ม ควรใช่เทียนขี้ผึ้งอย่างดี หนัก ๑ บาท ไส้เทียนใหญ่พอควร ติดไว้ที่ขอบขันน้ำมนต์ให้แน่น เตรียมใบเงินใบทองใส่ลงในขันน้ำมนต์พอควร ถ้าหาไม่ได้จะใช้ดอกบัวแทนก็ได้แต่ไม่ควรจะใช้ดอกไม้อื่นแทน ส่วนเครื่องประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ควรจะใช้หญ้าคามัดเป็นกำแล้วตัดปลายและรากทิ้ง กะยาวประมาณ ๑ ศอก เพราะถือกันว่าหญ้าคาเป็นหญ้ามงคล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะ ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ทรงประทับนั่งบนมัดหญ้าคา ซึ่งโสตถิยพราหมณ์ถวายในวันที่พระองค์จะได้ตรัสรู้ อันเรียกว่า รัตนบัลลังก์ แม้ในศาสนาพราหมณ์ ก็ถือกันว่าเป็นหญ้ามงคลเหมือนกัน เกิด ขึ้นเมื่อครั้งเทวดาแย่งน้ำอมฤตกับอสูร หกตกลงมาในมนุษย์โลกจึงเกิด เป็นหญ้าคาขึ้น เพราะฉะนั้นจึงใช้หญ้าคา ถ้าสุดความสามารถที่จะหาได้จริง ๆ จึงค่อยใช้อย่างอื่นแทน.
๗. การโยงด้ายสายสิญจน์


       โยงเป็นทักษิณาวัฏ คือเวียนจากซ้ายไปขวาอย่างเข็มนาฬิการอบเคหสถาน หรือบริเวณบ้านเรือน แล้วนำเข้ามาโยงที่โต๊ะพระพุทธรูปวงฐานพระพุทธรูปด้วย ต่อลงมาก็ลงภาชนะน้ำมนต์ โดยทักษิณาวัฏเช่นกัน เสร็จแล้วม้วนสายสิญจน์วางไว้บนพานที่บูชา หรือที่พระสงฆ์
๘. เมื่อพระสงฆ์มาถึงบ้าน

ฝ่ายเจ้าภาพต้อจัดการต้อนรับให้ดี ถ้าท่านไม่ได้สวมรองเท้า ต้องคอยตักน้ำล้างเท้าให้ท่าน และหาผ้าเช็ดเท้าเตรียมไว้ด้วย เมื่อพระนั่งบนอาสนะแล้ว ประเคนขันน้ำ หมากพลู บุหรี่ที่เตรียมไว้ เมื่อถึงเวลาที่พระจะเจริญพระพุทธมนต์หรือฉัน หรือเทศน์ต่อไป ถ้าเป็นงานมงคลสมรส ให้คู่บ่าวสาวจุดเทียนธูปคนละชุด บูชาพระรัตนตรัย ถ้าไม่ใช่งานสมรสให้เจ้าภาพเป็นผู้จุด เมื่อจุดเทียนธูปเสร็จแล้ว นำพานด้ายสายสิญจน์ถวายพระเถระผู้เป็นประธาน กล่าวคำอาราธนาศีล รับศีลจบแล้ว อาราธนาพระปริตร พระขัดสัคเค หรือชุมนุมเทวดา พอพระสงฆ์ สวดมนต์ถึงบท อะเสวะนา จะ พาลานัง เจ้าภาพพึงจุดเทียนน้ำมนต์ น้อมเข้าไปถวายพระเถระผู้เป็นประธาน ครั้นประสงฆ์สวดมนต์จวน จะจบพึงเตรียมน้ำร้อน น้ำเย็น หรือเครื่องดื่มเท่าที่จัดไว้คอยถวายท่านพอพระสวดมนต์จบจะได้ถวายได้ทันที
๙. การถวายภัตตาหาร

       ถ้าถวายภัตตาหารพระสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น จะเป็นเช้าก็ตาม เพลก็ตาม การเตรียมเครื่องรับรองเมื่อพระสงฆ์มาถึง พึงจัดอย่างวันสวดมนต์เย็น เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมแล้ว เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล รับศีลเหมือนตอนเย็น เสร็จแล้วไม่ต้องอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เริ่มสวดถวายพรพระเอง ถ้ามีการตักบาตรด้วย เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์ถึงบท พาหุง พึงเริ่มลงมือตักบาตร เสร็จแล้วเตรียมไว้ให้พร้อมทั้งข้าวทั้งกับทั้งที่พระพุทธและที่พระสงฆ์ เมื่อพระสวดมนต์จบแล้ว ก็จัดถวายได้ทันที ทั้งที่พระพุทธและที่พระสงฆ์
๑๐. งานวันเดียว

       ถ้าเป็นงานวันเดียว คือสวดมนต์ก่อนฉัน จะเป็นฉันเช้าก็ตามฉันเพลาก็ตาม การตระเตรียมต่าง ๆ ก็คงจัดครั้งเดียว พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ก่อน แล้วสวดถวายพรพระตอนท้าย เจ้าภาพพึงนั่งประนมมือฟัง เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์ถึงบท พาหุง หรือถวายพรพระ พึงเตรียมอาหารไว้ให้พร้อม พอพระสวดจบก็ยกประเคนได้ดังกล่าว และ ถ้ามีศิษย์วัดมาด้วยก็ให้จัดเลี้ยงเสียในระยะนี้ เพราะจะได้เสร็จและเดินทางกลับพร้อมกับพระไม่ต้องเสียเวลาให้พระนั่งคอยรอ ถ้ามีพาหนะรับส่ง ก็เตรียมไว้ให้พร้อม ตอนนี้เช่นกัน เมื่อพระเสร็จจากอนุโมทนา แล้วจะได้จัดส่งท่าน
สุดท้ายพิธี เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ถวายเครื่องไทยธรรม
ต่อจากนั้นพระองค์อนุโมทนา ขณะพระว่าบท ยะถา ให้เริมกรวดน้ำ
พอพระว่าบท สัพพี พึงประนมมือรับพรไปจนจบ ถ้ามีการจะให้พระ
สงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์หรือเจิม (โดยเจ้าภาพเตรียม แป้ง น้ำหอม หรือ
เครื่องเจิมไว้แล้ว) ก็กราบเรียนให้ท่านทราบในระยะนี้เสร็จแล้วส่งพระกลับ 

การทำบุญเกี่ยวกับศพ       
ซึ่งจัดว่าเป็นการทำบุญในงานอวมงคล มีกิจกรรมที่ควรตระเตรียมไว้เป็นเบื้องต้น ส่วนใหญ่คล้ายกับทำบุญงานมงคลดังกล่าวแล้ว มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างประการเท่านั้น คือ
๑. นิมนต์พระ

การนิมนต์พระมาสวดมนต์ในงานอวมงคลนี้มีนิยมจำนวน ๘ รูป ๑๐ รูป หรือกว่านั้นขึ้นไปแล้วแต่กรณีย์ ในเรื่องอาราธนาพระสงฆ์ทำบุญงานอวมงคลนั้น ใช้คำอาราธนาว่า "ขออาราธนา สวด พระพุทธมนต์ไม่ใช้คำอาราธนาว่า " "ขออาราธนา เจริญ พระพุทธมนต์" อย่างทำบุญงานมงคล มีข้อแตกต่างกันอยู่ตรงที่ สวด กับ เจริญ เท่านั้นเป็นเรื่องที่ควรกำหนด
๒. ไม่ตั้งขันน้ำมนต์ไม่โยงด้ายสายสิญจน์

การทำบุญในงานอย่างนี้ ไม่ต้องตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์และไม่ต้องโยงด้ายสายสิญจน์
๓. เตรียมสายโยงหรือภูษาโยง

สายโยงนั้น คือสายสิญจน์นั่นเอง ถ้าใช้ในงานมงคลเรียกว่า สายสิญจน์ แต่เวลาใช้กับศพเช่นนี้เรียกว่า สายโยง ถ้าเป็นแผ่นผ้า เรียกว่าภูษาโยง ใช้โยงต่อจากศพไว้ เพื่อใช้บังสุกุล การเดินสายโยง ภูษาโยงนั้น ต้องระวังอย่างหนึ่ง คือจะโยงในที่ที่สูงกว่าพระพุทธรูปที่ตั้ง ในพิธีไม่ได้ และจะปล่อยให้ลาดมากับพื้นที่เดินหรือนั่งก็ได้ เพราะสายโยงนี้เป็นสายที่โยงล่ามออกมาจากกระหม่อมศพ เป็นสิ่งเนื่องด้วยศพ จึงต้องล่ามหรือโยงให้สมควร

ส่วนการปฏิบัติกิจอื่น ๆ เมื่อพระมาถึงสถานที่ที่ประกอบพิธีแล้ว ก็
เหมือน ๆ กันกับงานมงคล 

๔. การทอดผ้า
การทอดผ้าบังสุกุลที่ภูษาโยงหรือสายโยงนั้น มีไตร จีวร สบง ย่าม ผ้าเช็ดหน้าผ้าเช็ดตัวเป็นต้นการทอดผ้าต้องทอดตามขวางสายโยง หรือภูษาโยง อย่าทอดตามยาวขนานไปกับสายโยง ถ้าไม่มีผ้า พระท่าน ก็จะจับสายโยง หรือภูษาโยงบังสุกุลเอง สายโยงหรือภูษาโยงนี้ถือกันมาก ห้ามข้ามเป็นเด็ดขาด ถ้าข้ามถือเป็นการหมิ่นประมาทผู้ตาย ขาดคราวะ ควรระวังให้มาก.
๕. การจับพัดจับสายโยงของพระ

  ถ้าเป็นการอนุโมทนาเวลาปกติ ใช้จับพัดด้วยมือข้างขวา จับด้ามพัดต่ำจากใบพัดประมาณ ๕ นิ้วมือ ใช้มือกำด้ามนิ้วทั้ง ๔ เว้นหัวแม่มือให้ยกขึ้นแตะทาบขึ้นไปตามด้ามพัด ถ้าจับพัดเวลาชักบังสุกุลให้จัดพัดด้วยมือข้างซ้าย ต่ำจากใบพัดประมาณ ๕ นิ้วมือ กำด้ามด้วยนิ้วทั้ง ๔ยกหัวแม่มือทาบขึ้นไปตามด้ามพัดเหมือนกับมือขวาดังกล่าวแล้วใช้มือขวาจับสายโยงหรือภูษาโยง หงายมือใช้นิ้วทั้ง ๔ เว้นหัวแม่มือสวดเข้าไปใต้ผ้าที่ชัก แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือจับบนผ้า อย่าคว่ำมือหรือทำอาการเพียงใช้นิ้วแตะ ๆ ที่ผ้าเป็นอันขาด ระวัง อย่าจับพัด จับผ้า ใช้ผิดระเบียบ ผู้รู้เขาจะแย้มสรวลเอาได้ เมื่อจับพร้อมกันแล้ว เริ่มว่าบทชักบังสุกุล (อะนิจจา) พร้อมกัน จบแล้วชักผ้าออกจากสายโยงหรือภูษาโยง วางไว้ตรงหน้า ผ้าที่เจ้าภาพทอดนั้นถ้าเป็นผ้าที่พอจะใส่ย่ามได้ ก็ให้ใส่ย่ามมาเวลากลับ หากเป็นผ้าที่ใส่ย่ามไม่ได้เช่นผ้าไตร หรือไม่มีย่าม พึงถือกอดมาด้วยมือข้างซ้าย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น