วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พิธีบวช

พิธีบวช
          คำว่า บวช  มาจากคำว่า ป+วช  แปลว่า  เว้นทั่ว  คือ  เว้นจากกาม  ในที่นี้หมายเพียงบวชเป็นสามเณรกับพระภิกษุเท่านั้น  จุดมุ่งหมายในการบวชก็คือ   การปฎิบัติตนเพื่อรื้อถอนออกจากความทุกข์  และทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน  คือความดับทุกข์  อย่างไรก็ตาม  การบวชได้แม้เพียงชั่วคราวก็นับว่าดี  เพราะนอกจากจะเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาแล้ว  อย่างน้อยก็ยังเป็นเหตุให้รู้จักฝึกความอดทนและความเสียสละอย่างมาก  อาจทำให้เข้าถึงพุทธธรรมได้โดยใกล้ชิด
การบวชเป็นสามเณร
          สามเณร  แปลว่า  ผู้เป็นเชื้อแห่งสมณะ  เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วต้องถือศีล ๑๐ ข้อ ดังต่อไปนี้
          ๑.เส้นจากการฆ่าสัตว์ทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน
          ๒.เว้นจากการลักทรัพย์
          ๓.เว้นจากการเสพเมถุน
          ๔.เว้นจากการพูดเท็จ
          ๕.เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย
          ๖.เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
          ๗.เว้นจากการฟ้อนรำขับร้องและการบรรเลง  ตลอดถึงการดูการฟังสิ่งเหล่านั้น
          ๘.เว้นจากการทัดทรงดอกไม้การใช้ของหอมเครื่องประทินผิว
๙.เว้นจากการนอนที่นอนสูงใหญ่และยัดนุ่นสำลีอันมีลายวิจิตร
๑๐.เว้นจากการรับเงินทอง
          นอกจากนี้  ยังต้องมี  ปัจจเวกขณะ  คือ  การพิจารณาจีวร  บิณฑบาต  เสนาสนะ  คิลานเภสัช  ตลอดถึงวัตรที่ควรศึกษา  อันเกี่ยวด้วยมารยาท  คือ  เสขิวัตร  อีก  ๗๕  ข้อ  ด้วย
          สถานที่ทำพิธี  เป็นกุฎิของพระอุปัชฌาย์ผู้ให้บวชก็ได้  เป็นโรงอุโบสถก็ได้  มีพระอันดับตั้งแต่  ๔  รูปขึ้นไปก็ได้  ไม่มีก็ได้
ของใช้ในพิธีคือ
          ๑.ไตรแบ่ง ( สบง ๑  ประคตเอว ๑ อังสะ ๑  จีวร ๑  ผ้ารัดอก ๑ ผ้ากราบ ๑ )
          ๒.จีวร  สบง  อังสะ  ( อาศัยหรือสำรอง )  ผ้าอาบ ๒ ผืน
          ๓.ย่าม  ผ้าเช็ดหน้า  นาฬิกา
          ๔.บาตร (มีเชิงรองและฝาพร้อม)
          ๕.รองเท้า  ร่ม
          ๖.ที่นอน  เสื่อ  หมอน  ผ้าห่ม  มุ้ง
          ๗.จานข้าว  ช้อนส้อม  แก้วน้ำ  ผ้าเช็ดหน้า  ปิ่นโต  กระโถน
          ๘.ขันน้ำ  สบู่  กล่องสบู่  แปรง  ยาสีฟัน  ผ้าเช็ดตัว
          ๙.ธูป  เทียน  ดอกไม้  สำหรับบูชาพระรัตนตรัย
          ๑๐.ธูป  เทียน  ดอกไม้ ( หรือจะใช้เทียนแพมีกรวยดอกไม้ก็ใช้ได้)
          สำหรับถวายพระอุปัชฌาย์ผู้บวชให้และมีปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระอุปัชฌายะและพระในพิธีนั้นอีกองค์ละชุดก็ได้  แล้วแต่กำลังศรัทธา
          ผู้บวชต้องปลงผม  โกนคิ้ว  โกนหนวด  ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สะอาดหมดจด  ส่วนพิธีการวันบวช  มีกล่าวไว้ส่วนหนึ่งแล้ว  และข้อสำคัญต้องว่าไตรสรณคมน์  ให้ชัดถ้อยชัดคำ  เพราะความเป็นสามเณรจะสำเร็จได้ด้วยไตรสรณคมน์เท่านั้น  นอกจากนั้นก็มี
หัวข้อที่ผู้บวชจะต้องจดจำคือ
          ๑.ให้บิดามารดาหรือผู้ปกครอง  พาไปหาเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์ ( ถ้าเจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยไม่ต้องไป ๒  แห่ง)
          ๒.ท่องคำบวช  สรณคมน์  และศีล ๑๐ ให้ได้ด้วยตนเอง
          ๓.หมั่นฝึกซ่อมพิธี  เช่น  การกราบ  เป็นต้น
การบวชเป็นพระภิกษุ
          ภิกขุ  แปลว่า  ผู้เห็นภัยในวัฎฎสงสาร  เมื่อบวชเป็นภิกษุแล้วต้องถือศีล  ๒๒๗  และต้องรักษาวัตรปฎิบัติอื่นๆ อีกมาก
          การบวชเป็นสามเณรเบื้องต้นของการบวชเป็นของพระภิกษุกล่าวคือ  จะบวชเป็นพระภิกษุได้ก็ต้องบวชเป็นสามเณรก่อน  เพราะฉะนั้นกุลบุตร  ผู้บวชเป็นพระภิกษุ  จึงจำต้องบวชเป็นสามเณรก่อน  ซึ่งมีวิธีการดังที่กล่าวมาแล้ว  ผู้เป็นสามเณร  ก็ขอจำต้องขอสวดไตรสรณคมน์และศีลใหม่  เพื่อให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  จึงดำเนินการบวชเป็นพระภิกษุได้ต่อไป  แต่ทางที่ดีที่สุด ควรขอบรรพชาแต่เบื้องต้นไปใหม่  เพราะเมื่อตอนขอบรรพชาเป็นสามเณร  ได้เว้นคำว่า  ละเภยยัง  อุปะสัมปะทังไว้    
          สถานที่ทำพิธี  คือ  โรงอุโบสถ  ประชุมสงฆ์ ๒๘ รูป  มีพระอุปัชฌาย์ ๑  พระกรรมวาจาจารย์  ๑  พระอนุสาวนาจารย์  ๑  ( สองรูปหลังนี้เรียกว่าพระค่าสวด) อีก ๒๕ รูป  เรียกว่าพระอันดับ ( ๑๐ รูปขึ้นไป ไม่ถึง ๒๕ รูปก็ใช้ได้)
ของใช้ในพิธีคือ
๑.ไตรครอง  (สบง ๑ ประคตเอว ๑  อังสะ ๑  จีวร ๑  สังฆาฎิ ๑  ผ้ารัดอก ๑  ผ้ากราบ ๑)
๒.บาตร (มีเชิงรองและฝาพร้อม)  ถลกบาตร  สายโยก  ถุงตะเครียว
๓.มีดโกนพร้อมทั้งกินลับมีดโกน
๔.เข็มเย็บผ้าพร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย
๕.เครื่องกรองน้ำ
๖.เสื่อ  หมอน  ผ้าห่ม  มุ้ง
๗.ตาลปัตร  ย่าม  ผ้าเช็ดหน้า  ร่ม  รองเท้า
๘.จีวร  สบง  อังสะ  ผ้าอาบ  ๒  ผืน  ( อาศัย )
๙.โคมไฟฟ้า  หรือตะเกียง  ไฟฉาย  นาฬิกาปลุก
๑๐.สำรับ  ปิ่นโต  คาว  หวาน  จานข้าว  ช้อนส้อม  ผ้าเช็ดมือ
๑๑.ที่ต้มน้ำ  กาต้มน้ำ  กาชงน้ำร้อน  ถ้วยน้ำร้อน  เหยือกน้ำ  และแก้วน้ำเย็น  กระติกน้ำแข็ง  กระติกน้ำร้อน 
๑๒.ขันอาบน้ำ  สบู่และกรองสบู่  แปรงและยาสีฟัน  ผ้าขนหนูและกระดาษชำระ
๑๓.กระโถนบ้วน  กระโถนถ่าย
๑๔.สันถัต (อาสนะ)
๑๕.หีบไม้หรือหรือกระเป๋าหนังสำหรับเก็บไตรครอง
๑ ถึง ๕  เป็นสิ่งจำเป็นมาก  เรียกว่า  อัฎฐบริขาร  แปลว่า  บริขาร ๘( มีผ้า๕ อย่าง  คือ  สบง ๑ ประคต ๑  จีวร ๑  สังฆาฏิ ๑  ผ้ากรองน้ำ ๑ มีเหล็ก ๓ อย่าง  คือ  บาตร ๑  มีดโกน ๑  เข็มเย็บผ้า ๑) ของนอกนั้นมีความจำเป็นน้อยลง  แล้วแต่กำลังเจ้าภาพจะจัดมาหาได้อีก
ไตร  วางไว้บนพานแว่นฟ้า  บาตร  สวมอยู่ในถุงตะเครียว  ภายในบาตรใส่มีดโกนพร้อมด้วยหินลับมีดโกนเข็มพร้อมทั้งกล่องเข็มและด้ายและเครื่องกรองน้ำ  นอกจากนั้นยังนิยมใส่พระเครื่องรางต่างๆ ลงในบาตร  เพื่อปลุกเสกให้ขลังขึ้นอีกด้วย
ถ้ามีกระบวนแห่ควรจัดกระบวนดังนี้
๑.การแสดงต่างๆ  เช่น  หัวโต  สิงโต (ถ้ามี)
๒.แตร หรือ เถิดเทิง ( ถ้ามี )
๓.ของถวายพระอุปัชฌาย์
๔.ไตรครอง  ซึ่งมารดาของผู้บวชมักจะเป็นผู้อุ้ม ( มีสัปทนกั้น)
๕.ผู้บวชพนามือถือดอกบัว ๓ ดอก ธูป ๓ ก้าน  เทียน ๒ เล่ม  ( มีสัปดนกั้น )
๖.บาตรและตาลปัตร  ซึ่งบิดาผู้บวชสะพายและถือ
๗.ของถวายพระอันดับ
๘.บริขารและเครื่องใช้อย่างอื่นของผู้บวช
ถ้ามีไตรถวายพระอุปัชฌาย์และคู่สวด  ก็ต้องมีสัปทนกั้นอีก ๓ คันของถวายพระอุปัชฌาย์มีพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือกรวยขอนิสัย  ซึ่งภายในมีหมากพูลหรือเมียง  นอกนั้นแล้วแต่จะเห็นตามสมควรคสรจัดของถวายพระอุปัชฌาย์เป็นพิเศษ  รองลงมาคือสวดคู่รองลงมาคือพระอันดับ
เมื่อจัดขบวนเรียบร้อยแล้ว  ก็ไหลเคลื่อนไปสู่หน้าพระอุโบสถ  เวียนขวานอกรอบสีมา ๓ รอบแล้ว  ต้องสันทาเสมาหน้าอุโบสถเสียก่อน  ว่า  วันทามิ  อาราเม  พัทธะเสมายัง  โพธิรุกขัง  เจติยัง  สัพพะ  เม  โทสัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต  ฯ
คำวันทาเสมา (อีกแบบหนึ่ง)
อุกาสะ วันทามิ ภันเต สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต
มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง สามินา กะตัง ปุญญัง
มัยหัง ทาตัพพัง สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ ฯ
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ
กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต ฯ อุกาสะ ขะมามิ ภันเต ฯ
วันทามิ ภันเต สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต มะยา
กะตัง ปุญญัง สามินา อะนุโมทิตัพพัง สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง
ทาตัพพัง สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ ฯ
เสร็จแล้วโปรยทาน แล้วเข้าสู่พระอุโบสถได้ โดยมารดาบิดาหรือ
ญาติผู้ใหญ่หรือเจ้าภาพจูงประกอบด้วยญาติและมิตรเป็นผู้เกาะต่อ ๆ กัน ครั้น
แล้วผู้บวชจึงไปวันทาพระประธานในพระอุโบสถด้านข้างพระหัตถ์ขวา แล้ว
มารับไตรครองจากมารดาบิดาหรือญาติผู้ใหญ่หรือเจ้าภาพ ต่อจากนั้นจึงเริ่ม
พิธีการบวชตามหลักพระธรรมวินัยต่อไป
เมื่อบวชเป็นสามเณรเสร็จแล้ว บิดาต้องคอยประเคนบาตรแก่
สามเณรนั้น ขณะที่พระคู่สวดกำลังสวดญัตติจตุตถกรรมวาจา ห้ามมิให้อนุป-
สัมบัน (ผู้ที่มิใช่พระภิกษุ) เข้าใกล้อาสน์สงฆ์ ๑ ศอก ทางที่ดีควรสงบอยู่
กับที่ ภายหลังจากบวชเป็นพระภิกษุเสร็จแล้ว เจ้าภาพและญาติมิตรจึงถวาย
อัฏฐบริขารและเครื่องใช้อื่น ๆ ที่สมควรแก่สมณะ แก่พระบวชใหม่ต่อไป
เสร็จแล้วพระบวชใหม่กรวดน้ำ เป็นเสร็จพิธี
ข้อสำคัญที่ควรจดจำไว้ก็คือ
๑. มารดาบิดา หรือญาติผู้ใหญ่หรือเจ้าภาพ พร้อมผู้จะบวช
ต้องไปติดต่อกับเจ้าอาวาสที่ตนจะบวชอยู่ และพระอุปัชฌาย์แต่เนิ่น ๆ
(ถ้าเจ้าอาวาสเป็นอุปัชฌาย์ด้วยก็ไม่ต้องไปติดต่อ ๒ แห่ง)

        ๒. ผู้จะบวช เรียกกันว่า อุปสัมปทาเปกข์ หรือ นาค หรือ
นักบวช ต้องท่องคำบาลี ซึ่งเรียกกันว่า ขานนาค ให้ได้คล่องแคล่ว
ชัดถ้อยชัดคำ

        ๓. หมั่นฝึกซ้อมกับพระอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ ในเรื่องระเบียบ
ต่าง ๆ อันเนื่องในการนี้ให้คล่อง มิให้เคอะเขินในเวลาเข้าพิธี

หมายเหตุ ในการบวชนี้ บางคนนิยมมีพิธีทำขวัญนาคก่อนวันบวช
๑ วัน หรือทำในวันนั้น คือทำขวัญเช้าบวชบ่าย การทำขวัญก็เพื่อให้เจ้านาค
รู้จักคุณมารดาบิดา และมีใจศรัทธาซาบซึ้งในการบวชขึ้นอีก ในการนี้จะต้อง
มีของอีกหลายอย่าง เช่น บายศรี แว่นเวียนเทียน ฆ้อง ธูปเทียนตามแบบของ
หมอทำขวัญ การทำขวัญก็ดี แม้การแสดงต่าง ๆ ตลอดถึงแตร เถิดเทิงก็ดี
บางคนก็ไม่นิยม ชอบเงียบ ๆ ตรงไปเดินเวียนโบสถ์เข้าโบสถ์เฉย ๆ ทั้งนี้
แล้วแต่อัธยาศัย ส่วนการแต่งตัวเจ้านาค มักใช้ชุดขาว นุ่งแบบผ้าถุงจีบ
อังสะขาว บางทีก็มีเสื้อขาวแขนยาว แล้วสวมเสื้อครุยทับ

เมื่อบวชแล้วมักมีการฉลองพระใหม่ ถ้าบวชเช้าก็ฉลองเพล ถ้าบวช
บ่ายก็ฉลองวันรุ่งขึ้นหรือจะเลื่ยนไปฉลองในวันต่อ ๆ ไปก็ได้ ตามความ
สะดวกของเจ้าภาพ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น